Loading...
ศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช : 1 ม. 4 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
จันทร์ - ศุกร์ : 8.30 - 16.30 น.
082-275-7590

รายละเอียดข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้
news_detail
17 กุมภาพันธ์ 2568     ข่าวประชาสัมพันธ์     33 ครั้ง
นิทรรศการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช (เป็นการส่วนพระองค์) วันอาทิตย์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.55 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดงานแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้น โดยเป็นจุดดำเนินการที่ 2 ต่อจากจังหวัดอุดรธานี เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้ง เพิ่มช่องทางการตลาด ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีผู้ประกอบการจาก จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาสปัตตานี พัทลุง ภูเก็ต ยะลา สงขลา และสตูล รวม 30 กลุ่ม จัดแสดงผลงานที่น้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ไปพัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ รวมทั้งกลุ่มหัตถกรรมพื้นถิ่น และกลุ่มศิลปาชีพภาคใต้ อาทิ ศูนย์ผ้าบาติกค่ายสิรินธร จังหวัดปัตตานี ที่นำลวดลายเรขาคณิต มาผสมผสานเข้ากับดอกไม้ประจำ 14 จังหวัดภาคใต้ และสัตว์พื้นถิ่น ให้มีความร่วมสมัย สามารถนำมาใช้ได้ง่ายกับทุกเพศทุกวัย โดยใช้สีย้อมจากธรรมชาติ อย่างต้นคราม สายพันธุ์ปัตตานี ผลิตเป็นสีย้อมผ้าบาติก ซึ่งเป็นการนำร่อง โครงการบาติกโมเดล ในการพัฒนาผ้าบาติกของจังหวัดปัตตานี นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้าลายสิริวชิราภรณ์จากกลุ่มมีดีนาทับ จังหวัดสงขลา, งานย่านลิเภาของกลุ่มสตรีสหกรณ์จักสานย่านลิเภาบ้านนาเคียน จังหวัดนครศรีธรรมราช, ผ้าทอยกดอกแบบขิด ลายสีทองแป้น ของพัสรดาผ้าทอมือ ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง, งานหัตถกรรมกระเป๋าสานเชือกกล้วย กลุ่มกอร์ตานี จังหวัดสงขลา, ผลิตภัณฑ์งานกระจูด กลุ่มกระจูดราตรี จังหวัดนครศรีธรรมราช, ภายในงานยังมีบูทของหรอยเมืองใต้ ที่นำผลไม้ อาหาร และขนมต่าง ๆ มาจัดแสดง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น อาทิ มะม่วงเบา ส้มโอ ลูกจาก ลูกหยี ปลากระบอกร้า สตอดอง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปที่ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัด โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภาคใต้ เฝ้าถวายการบ้าน ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการฯ ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2567 ทั้งเรื่องการใช้สีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย มาปรับใช้เพื่อให้ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน อาทิ แผนกเครื่องปั้นดินเผา โปรดให้เพิ่มลวดลายผลไม้ ชุดสำหรับใส่ข้าวแช่ โปรดให้ทำฝาปิดและช้อนเพิ่ม ตะกร้าใส่ของ โปรดให้เพิ่มสัตว์ต่าง ๆ ให้เกาะอยู่บนที่จับ, แผนกลิเภา การบ้านที่นำมาถวาย ทั้งกระเป๋ารูปทรงมังคุด ตะกร้า ถอดลอยน้ำ ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม ทันสมัยมากขึ้น โปรดให้ทำชิ้นงานให้ชินมือ เนื่องจากสมาชิกมีอายุมากขึ้น, แผนกกระจูด กระเป๋าโปรดให้ทำขนาดที่หลากหลาย ให้เพิ่มลายปัก เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว หรือ ตัวอักษร และเปลี่ยนสีหูจับ รวมทั้ง ทดลองนำงานถักมาตกแต่งที่กระเป๋า ทั้งนี้ โปรดให้ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ, นักวิชาการ และนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ช่างทอผ้า ช่างจักสาน และผู้ประกอบการ อาทิ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล ในการนี้ พระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" ประเภทผ้าบาติกแก่ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ชนะเลิศ จากการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ซึ่งทรงออกแบบผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์ เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยประเภทผ้าบาติก ลายที่ 1 ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาน, ลายหัวใจดอกพุดตาน, ลายมยุรสิริ, ลายม้า และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568 ส่วนลายที่ 2 ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาน, ลายหัวใจดอกพุดตาน, ลายช่อดอกพุดตาน, ลายมยุรสิริ, ลายม้า และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568 ซึ่งลายพระราชทาน ลายที่ 2 นี้ เพิ่มลายช่อดอกพุดตาน เป็นช่อลายที่ประกอบขึ้นด้วยดอกพุดตานห้าดอก เรียงไล่ขนาดจากใหญ่ไปถึงดอกยอดในรูปทรงหยดน้ำทรงพุ่ม ซึ่งเป็นรูปทรงลายโบราณที่ปรากฎในภูมิภาคต่าง ๆ หลากหลายอารยธรรม สันนิษฐานว่าแพร่กระจายจากเปอร์เซียผ่านเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล สู่ดินแดนเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ มักใช้เป็นองค์ประกอบของลายต้นไม้แห่งชีวิต หรือ "Tree of Life" จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดแสดงเกี่ยวกับผ้ายก อาทิ กลุ่มศิลปาชีพทอผ้ายกไหมเมืองนคร และกลุ่มสมาชิกศิลปาชีพปักผ้าแบบโบราณ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินงานสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการจัดทำเครื่องแต่งกายเพื่อใช้ในการการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, การแสดงผ้าลายไทยอัตลักษณ์ภาคใต้ ที่มีความงดงามโดดเด่นทั้งผ้ายกนคร ผ้ายกนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง และผ้ายกพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร นำเสนอกระบวนการผลิตผ้าไหม ที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานสีทอง, วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชที่จัดแสดงงานช่างสลัก ช่างแกะ ช่างเขียน ช่างรัก ช่างปั้น ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เครื่องถม และช่างสิบหมู่ ของจังหวันครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำเสนอการทอผ้ายกลายราชวัตรโคม ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายและเป็นทักษะความชำนาญของช่างทอในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงหนังตะลุง หนังวาที ทรัพย์สิน โดยนายวาที ทรัพย์สิน ทายาทศิลปินแห่งชาติ และลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผู้สืบสานและถ่ายทอดภูมิปัญญาการแสดงหนังตะลุงของนายสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ปี 2549 ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ การประชันหนังตะลุงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน หนังตลุงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะการแสดงของภาคใต้ ที่อนุรักษ์ สืบสานต่อกันมายาวนานนับร้อยปี และสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย สามารถดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?vanity=100080488211944&set=a.657968373562764


เอกสารดาวน์โหลด
- ไม่มีเอกสาร
ประมวลภาพข่าว

ข่าวติดอันดับ

ศูนย์อัจฉริยะ